“การที่เราพบเจอกับสิ่งมีชีวิตที่น่ารักมากๆ เราก็มักจะอยากเข้าใกล้ เอ็นดู ทะนุถนอม และมีความรู้สึกเชิงบวกเป็นเรื่องธรรมดา  แต่นอกจากความรู้สึกเหล่านี้ มันยังมีความรู้สึกอื่นๆ ที่เป็นเชิงลบครอบงำเราอยู่ด้วย” แคทเธอรีน สตาฟโรพอลอส ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย, ริเวอร์ไซด์ กล่าว ซึ่งความรู้สึกที่ว่านี้ก็คือ Cute Aggression มันเขี้ยวเกรี้ยวกราดในความน่ารัก 

ทฤษฎีแห่งความน่ารัก ที่มักมาพร้อมกับความเป็นเด็ก
จากการทดลองของแคทเธอรีนในการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง โดยฉายภาพเด็กน้อยธรรมดาๆ สัตว์ธรรมดาๆ กับภาพเด็กและภาพสัตว์ที่มีการปรับแต่งให้ดูคิวต์ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งอิงตามทฤษฎีความน่ารัก kinderschema (สิ่งที่คนเรามองว่าน่ารักมักมาจากรูปลักษณ์ที่ดูเป็นเด็ก เช่น ตาโตๆ จมูกเล็กๆ แก้มป่องๆ) เมื่อให้ดูภาพแต่ละเซ็ตแล้ว ผู้ทดลองจะลงคะแนนและแสดงความคิดเห็น ซึ่งผลที่ได้ก็พบว่าภาพที่มีการปรับแต่งให้ดูตาโตขึ้น แก้มป่องขึ้นนั้นมีผลกับผู้ทดลองอย่างชัดเจน และมีคอมเมนต์ทั้งอยากจะงับจัง อยากหยิกมากๆ หรือเห็นภาพแล้วมีอารมณ์อยากบีบอะไรในมือ 

ไม่ใช่โรคจิต แต่เป็นสัญชาตญาณ
คนที่มีอาการ Cute Aggression ไม่ใช่คนที่ผิดปกติหรือโรคจิตแต่อย่างใดนะคะ และพบเห็นได้ทั่วๆไปด้วยซ้ำ แล้วถามต่อว่า เราพ่ายแพ้ต่อความน่ารักจนเกิดอาการ Cute Aggression ไปทำไมละเนี่ย? แคทเธอรีนก็ให้ความเห็นไว้ว่า อาจจะเพราะเด็กและบรรดาลูกสัตว์ทั้งหลายยังไม่สามารถดูแลตัวเอง จึงต้องมีความน่ารักเพื่อให้น่าเอ็นดูและทะนุถนอม แต่ถ้าผู้ใหญ่อย่างเราๆ เอาแต่รู้สึกที่ว่า งู้ยยย น่ารักจังเลย เคลิ้มไปกับความน่ารักจนวันๆ ไม่ทำอะไร เด็กๆ ก็คงไม่รอดแน่  จึงเกิดเป็นความรู้สึก Cute Aggression ที่เป็นเชิงลบขึ้นมา เพื่อสร้างสมดุลให้กับการตอบสนองของเรา ให้ไม่จมกับความมุ้งมิ้งจนเกินไป เป็นสัญชาตญาณที่ผลักดันให้เราแข็งแกร่งและลุกขึ้นปกป้องสิ่งน่ารักเหล่านั้นนั่นเอง 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *